วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2551

ใบความรู้ที่ 5

ชนิดมิเตอร์ไฟสลับและวิธีวัดค่า


สารบัญเนื้อหา
5.1 ดาร์สันวาล์มิเตอร์ใช้วงจรเรียงกระแส
5.2 มิเตอร์แบบไดนาโมมิเตอร์ไฟฟ้า
5.3 มิเตอร์แบบแผ่นโลหะผลักเคลื่อนที่
5.4 มิเตอร์แบบขดลวดเอียง
5.5 มิเตอร์แบบโซลีนอยด์
5.6 มิเตอร์แบบเทอร์โมคัปเปิล
5.7 มิเตอร์แบบไฟฟ้าสถิต
5.8 มิเตอร์แบบแคลมป์


5.1 ดาร์สันวาล์มิเตอร์ใช้วงจรเรียงกระแส

ดาร์สันวาล์มิเตอร์เป็นมิเตอร์ใช้งานเฉพาะไฟตรง แต่สามารถนำไปใช้งานกับไฟสลับได้เช่นกัน โดยการดัดแปลงดาร์สันวาล์มิเตอร์ด้วยการเพิ่มอุปกรณ์เปลี่ยนไฟสลับเป็นไฟตรง อุปกรณ์ตัวนั้นได้แก่ไดโอดเรียงกระแส ผลิตขึ้นมาจากสารกึ่งตัวนำชนิดซิลิคอน (Si) ลักษณะการต่อวงจรเรียงกระแสที่นิยมใช้งานเป็นชนิดครึ่งคลื่น ใช้ไดโอดต่อร่วมวงจร 2 ตัวเพื่อกำหนดศักย์ไฟฟ้าที่ต้องการผ่านมิเตอร์ ดาร์สันวาล์มิเตอร์ใช้วงจรเรียงกระแส แสดงดังรูปที่5.1

รูปที่5.1 ดาร์สันวาล์มิเตอร์ต่อร่วมกับวงจรเรียงกระแสใช้วัดไฟสลับ

จากรูปที่5.1 แสดงดาร์สันวาล์มิเตอร์ต่อร่วมกับวงจรเรียงกระแสใช้วัดไฟสลับ ไดโอด D1 เป็นตัวแปลงไฟสลับเป็นไฟตรงกระเพื่อมซีกบวกป้อนให้ขั้วบวกดาร์สันวาล์มิเตอร์ ไดโอด D2 เป็นตัวกำจัดสัญญาณไฟสลับซีกลบให้ผ่านกลับออกไป ไม่ให้ผ่านเข้าดาร์สันวาล์มิเตอร์ มีตัวต้านทาน R1 เป็นตัวช่วยลดกระแสที่ไหลผ่านไดโอด D2 ให้น้อยลง
การนำวงจรตามรูปที่5.1 ไปใช้งานเป็นแอมมิเตอร์หรือโวลต์มิเตอร์ ทำได้โดยต่อเพิ่มตัวต้านทานเข้าวงจรมิเตอร์ เช่นทำเป็นแอมมิเตอร์ต่อเพิ่มตัวต้านทานค่าต่ำๆ ขนานกับวงจรมิเตอร์ทางอินพุต และทำเป็นโวลต์มิเตอร์ต่อเพิ่มตัวต้านทานค่าสูงๆ อนุกรมกับวงจรมิเตอร์ทางอินพุต เลือกค่าความต้านทานที่เหมาะสมมาใช้งาน ก็สามารถสร้างแอมมิเตอร์ไฟสลับ หรือโวลต์มิเตอร์ไฟสลับได้ตามต้องการ

5.2 มิเตอร์แบบไดนาโมมิเตอร์ไฟฟ้า

มิเตอร์แบบไดนาโมมิเตอร์ไฟฟ้าหรืออิเล็กโทรไดนาโมมิเตอร์ เป็นส่วนเคลื่อนไหวของมิเตอร์ที่ทำงานเหมือนกับดาร์สันวาล์มิเตอร์ คือใช้การทำงานของสนามแม่เหล็ก 2 ชุด ชุดหนึ่งอยู่กับที่ อีกชุดหนึ่งเคลื่อนที่ แต่แตกต่างไปจากดาร์สันวาล์มิเตอร์ตรงที่ ส่วนของสนามแม่เหล็กอยู่กับที่ แทนที่จะใช้แม่เหล็กถาวรก็ใช้แม่เหล็กไฟฟ้าแทน สร้างจากขดลวดอยู่กับที่ (Fixed Coil) จำนวน 2 ชุด วางขนานแยกห่างกัน ล้อมขดลวดเคลื่อนที่ของมิเตอร์จำนวน 1 ชุดไว้ ขดลวดทั้ง 3 ชุดต่อกันอย่างอนุกรม โครงสร้างของไดนาโมมิเตอร์ไฟฟ้า แสดงดังรูปที่5.2

รูปที่5.2 โครงสร้างของไดนาโมมิเตอร์ไฟฟ้าเบื้องต้น

จากรูปที่5.2 แสดงโครงสร้างของไดนาโมมิเตอร์ไฟฟ้าเบื้องต้น วงจรประกอบด้วยขดลวดสนามแม่เหล็ก 3 ชุด ของไดนาโมมิเตอร์ไฟฟ้า ถูกต่อเข้าด้วยกันแบบอนุกรม มีขั้วอินพุตใช้สำหรับวัดปริมาณไฟฟ้า เมื่อมีกระแสไหลเข้าวงจรไดนาโมมิเตอร์ไฟฟ้าที่อินพุต มีกระแสไหลผ่านขดลวดทั้ง 3 ขด ทำให้ขดลวดทุกขดเกิดอำนาจแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้นพร้อมกัน เพราะขดลวดทั้ง 3 ขดต่ออนุกรมกัน เกิดอำนาจผลักดันขึ้นระหว่างสนามแม่เหล็กของขดลวดคงที่ และสนามแม่เหล็กของขดลวดเคลื่อนที่ ขดลวดเคลื่อนที่บ่ายเบนไปชี้ค่าการวัดปริมาณไฟฟ้าออกมา
ปริมาณกระแสที่ไหลผ่านขดลวดทั้ง 3 ขด มีผลต่อการบ่ายเบนไปของเข็มชี้กระแสไหลเข้ามาน้อย ขดลวดทั้ง 3 ขดเกิดสนามแม่เหล็กน้อย มีอำนาจผลักดันต่ำ เข็มชี้บ่ายเบนไปน้อย กระแสไหลเข้ามามาก ขดลวดทั้ง 3 ขดเกิดสนามแม่เหล็กมาก มีอำนาจผลักดันสูง เข็มชี้บ่ายเบนไปมาก
คุณสมบัติของไดนาโมมิเตอร์ไฟฟ้า เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของส่วนเคลื่อนไหวมิเตอร์ที่นำมาใช้งาน ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้ โดยสร้างเป็นมิเตอร์ได้หลายชนิด เช่น วัตต์มิเตอร์ วาร์มิเตอร์ เพาเวอร์แฟกเตอร์มิเตอร์ และมิเตอร์วัดความถี่ เป็นต้น

5.3 มิเตอร์แบบแผ่นโลหะผลักเคลื่อนที่

มิเตอร์แบบแผ่นโลหะผลักเคลื่อนที่ เป็นมิเตอร์ที่ใช้ผลของสนามแม่เหล็กผลักดันให้แผ่นโลหะเคลื่อนที่เคลื่อนตัวไปตามแนวเส้นแรงแม่เหล็ก การเคลื่อนตัวไปของแผ่นโลหะเคลื่อนที่ขึ้นอยู่กับความเข้มของสนามแม่เหล็กที่เกิดขึ้นโดยรอบ การเคลื่อนตัวไปของแผ่นโลหะเคลื่อนที่ ทำให้เข็มชี้บ่ายเบนไปด้วยชี้ค่าปริมาณไฟฟ้าออกมา โครงสร้างของมิเตอร์แบบแผ่นโลหะผลักเคลื่อนที่ แสดงดังรูปที่5.3

รูปที่5.3 โครงสร้างมิเตอร์แบบแผ่นโลหะผลักเคลื่อนที่

จากรูปที่5.3 แสดงโครงสร้างมิเตอร์แบบแผ่นโลหะผลักเคลื่อนที่ เป็นมิเตอร์ที่สามารถสร้างเป็นโวลต์มิเตอร์และแอมมิเตอร์ได้ โครงสร้างประกอบด้วยแผ่นเหล็กอ่อนโค้งทรงกระบอก (Soft Iron Vane) 2 แผ่น แผ่นเหล็กแผ่นหนึ่งอยู่กับที่ ส่วนอีกแผ่นหนึ่งเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ แผ่นเหล็กเคลื่อนที่ได้ถูกยึดติดกับท่อนโลหะทรงกระบอกและมีเข็มชี้ยึดติดร่วมด้วย ตอนนอกสุดมีขดลวดทรงกระบอกล้อมรอบ
เมื่อมีกระแสไหลผ่านขดลวด แผ่นเหล็กทั้งสองจะเป็นแม่เหล็กทั้งคู่ เกิดขั้วแม่เหล็กขึ้นเหมือนกัน เช่น ขั้วเหนือ (N) ทั้งคู่ หรือขั้วใต้ (S) ทั้งคู่ เกิดการผลักดันกัน ทำให้แผ่นเหล็กเคลื่อนที่ได้หมุนไปรอบแผ่นเหล็กอยู่กับที่ เข็มชี้ที่ยึดติดอยู่บ่ายเบนตามไปด้วย มีสปริงเป็นตัวบังคับการบ่ายเบน
ถ้าจ่ายกระแสให้ขดลวดมาก จะเกิดสนามแม่เหล็กมาก ทำให้แผ่นเหล็กทั้งสองเกิดสนามแม่เหล็กมาก เกิดแรงผลักดันมาก เข็มชี้บ่ายเบนไปมาก ถ้าจ่ายกระแสให้ขดลวดน้อย จะเกิดสนามเหล็กน้อย ทำให้แผ่นเหล็กทั้งสองเกิดสนามแม่เหล็กน้อย เกิดแรงผลักดันน้อย เข็มชี้บ่ายเบนไปน้อย

5.4 มิเตอร์แบบขดลวดเอียง

มิเตอร์แบบขดลวดเอียง เป็นมิเตอร์ที่มีส่วนเคลื่อนไหวเป็นแบบแผ่นเหล็กเคลื่อนที่ โดยอาศัยสนามแม่เหล็กเนื่องจากกระแสไหลผ่านขดลวด เกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้น ไปผลักดันให้เข็มชี้บ่ายเบน ความเข้มของสนามแม่เหล็กขึ้นอยู่กับจำนวนรอบของขดลวด และจำนวนกระแสที่ไหลผ่านขดลวด โครงสร้างมิเตอร์แบบขดลวดเอียง แสดงดังรูปที่5.4

รูปที่5.4 โครงสร้างมิเตอร์แบบขดลวดเอียง

รูปที่5.4 แสดงโครงสร้างมิเตอร์แบบขดลวดเอียง เป็นมิเตอร์ที่สร้างขึ้นมาใช้วัดกระแสเช่นเดียวกับดาร์สันวาล์มิเตอร์ สามารถสร้างเป็นโวลต์มิเตอร์หรือแอมมิเตอร์ได้เช่นเดียวกัน โครงสร้างประกอบด้วยแผ่นเหล็กอ่อนเคลื่อนที่ ถูกยึดติดแน่นอยู่บนท่อนโลหะทรงกระบอก มีปลายสองด้านเป็นเดือยแหลมมารองรับ สามารถหมุนเคลื่อนที่ได้รอบตัว และมีเข็มชี้ยึดติดแน่นอยู่ด้วย การบ่ายเบนของเข็มชี้ถูกบังคับด้วยสปริงก้นหอย แผ่นเหล็กอ่อนเคลื่อนที่สำหรับรองรับความเข้มของสนามแม่เหล็กถูกวางอยู่ในขดลวดเอียงทรงกระบอก
เมื่อมีกระแสไหลผ่านขดลวดเอียง จะเกิดสนามแม่เหล็กขึ้น มีเส้นแรงแม่เหล็กเกิดขึ้นในแนวขนานกับท่อนโลหะทรงกระบอก ส่งผลให้แผ่นเหล็กอ่อนเคลื่อนที่ถูกผลักดันอยู่ในแนวเส้นแรงแม่เหล็ก เกิดการเคลื่อนที่ไปตามทิศทางของเส้นแรงแม่เหล็กของขดลวดเอียง ทำให้เข็มชี้บ่ายเบนไปชี้ค่าปริมาณไฟฟ้าออกมา
ถ้ามีกระแสไหลผ่านขดลวดเอียงมาก ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กและเส้นแรงแม่เหล็กมาก แผ่นเหล็กอ่อนเคลื่อนที่ถูกผลักให้เคลื่อนที่ไปมาก ท่อนโลหะทรงกระบอกและเข็มชี้บ่ายเบนไปมาก และถ้ามีกระแสไหลผ่านขดลวดเอียงน้อย ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กและเส้นแรงแม่เหล็กน้อย แผ่นเหล็กอ่อนเคลื่อนที่ถูกผลักให้เคลื่อนที่ไปน้อย ท่อนโลหะทรงกระบอกและเข็มชี้บ่ายเบนไปน้อย

5.5 มิเตอร์แบบโซลีนอยด์

มิเตอร์แบบโซลีนอยด์ เป็นมิเตอร์ที่มีส่วนเคลื่อนไหวแสดงการวัดค่าปริมาณไฟฟ้าได้ทั้งไฟตรง (DC) และไฟสลับ (AC) ถูกสร้างมาใช้ในแอมมิเตอร์และโวลต์มิเตอร์ มิเตอร์ชนิดนี้ใช้ส่วนเคลื่อนไหวเป็นโซลีนอยด์หรือท่อนเหล็กอ่อนเคลื่อนที่ โดยอาศัยผลของสนามแม่เหล็กผลักดัน ทำให้เกิดการบ่ายเบนของเข็มชี้ โครงสร้างมิเตอร์แบบโซลีนอยด์ แสดงดังรูปที่5.5

รูปที่5.5 โครงสร้างมิเตอร์แบบโซลีนอยด

จากรูปที่5.5 แสดงโครงสร้างมิเตอร์แบบโซลีนอยด์ โครงสร้างประกอบด้วยขดลวดโซลีนอยด์ เป็นตัวรับกระแสไหลผ่าน ตอนกลางขดลวดมีท่อนเหล็กอ่อนวางอยู่ ท่อนเหล็กอ่อนนี้ เคลื่อนที่ได้เมื่อมีสนามแม่เหล็กผลักดัน ตอนปลายสุดของท่อนเหล็กอ่อนเคลื่อนที่ถูกยึดติดกับจุดหมุนและเข็มชี้
เมื่อมีกระแสไหลผ่านขดลวดโซลีนอยด์ ทำให้ขดลวดโซลีนอยด์เกิดสนามแม่เหล็ก ผลักดันท่อนเหล็กอ่อนเคลื่อนที่ ให้เคลื่อนที่เข้าหาขดลวดโซลีนอยด์ เข็มชี้ถูกบ่ายเบนไปชี้ค่าปริมาณไฟฟ้าที่วัดออกมาบนสเกล
ถ้าจ่ายกระแสให้ขดลวดโซลีนอยด์มาก ขดลวดโซลีนอยด์เกิดสนามแม่เหล็กมาก ท่อนเหล็กอ่อนเคลื่อนที่เข้าหาขดลวดโซลีนอยด์มาก เข็มชี้บ่ายเบนไปมาก และถ้าจ่ายกระแสให้ขดลวดโซลีนอยด์น้อย ขดลวดโซลีนอยด์เกิดสนามแม่เหล็กน้อย ท่อนเหล็กอ่อนเคลื่อนที่เข้าหาขดลวดโซลีนอยด์น้อย เข็มชี้บ่ายเบนไปน้อย
โซลีนอยด์มิเตอร์จะสร้างขึ้นเป็นโวลต์มิเตอร์หรือแอมมิเตอร์ ขึ้นอยู่กับชนิดของขดลวดโซลีนอยด์ที่ใช้ ถ้าทำเป็นแอมมิเตอร์ใช้ขดลวดโซลีนอยด์เส้นใหญ่ พันจำนวนรอบน้อยๆ และถ้าทำเป็นโวลต์มิเตอร์ใช้ขดลวดโซลีนอยด์เส้นเล็ก พันจำนวนรอบมากๆ

5.6 มิเตอร์แบบเทอร์โมคัปเปิล

มิเตอร์แบบเทอร์โมคัปเปิล เป็นมิเตอร์ที่สามารถสร้างขึ้นมาให้วัดกระแสและแรงดันได้ นำไปวัดได้กับไฟตรง (DC) และไฟสลับ (AC) นอกจากนั้นยังสามารถวัดไฟสลับที่ความถี่สูงๆ ได้ถึงเป็นเมกเฮิรตซ์ (MHz) การวัดค่าปริมาณไฟฟ้าของเทอร์โมคัปเปิล ต้องเปลี่ยนปริมาณไฟฟ้าที่จะวัดให้เป็นความร้อนเสียก่อน โดยใช้ลวดความร้อนส่งผ่านความร้อนไปให้เทอร์โมคัปเปิล เทอร์โมคัปเปิลจะเปลี่ยนความร้อนเป็นแรงดัน ป้อนไปให้ดาร์สันวาล์มิเตอร์แสดงค่าการวัดออกมา ส่วนประกอบเบื้องต้นของเทอร์โมคัปเปิลมิเตอร์ แสดงดังรูปที่5.6

รูปที่5.6 เทอร์โมคัปเปิลมิเตอร์เบื้องต้น

เทอร์โมคัปเปิลจัดเป็นอุปกรณ์พวกทรานส์ดิวเซอร์ (Transducer) มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนความร้อนเป็นแรงดัน โครงสร้างของเทอร์โมคัปเปิลประกอบด้วยลวดโลหะ 2 ชนิด ที่ทำมาจากโลหะต่างชนิดกัน ปลายด้านหนึ่งของโลหะทั้งสองจะต่อชนติดกันอย่างสนิท ปลายอีกด้านหนึ่งของโลหะทั้งสองแยกออกจากันเป็นรูปตัววี (V) นำไปต่อเข้ากับส่วนเคลื่อนไหวของมิเตอร์แบบดาร์สันวาล์ ตอนปลายของเทอร์โมคัปเปิลด้านที่ต่อชนกัน ถูกวางอยู่ใกล้ขดลวดความร้อน ทั้งเทอร์โมคัปเปิลและขดลวดความร้อนถูกหุ้มด้วยฉนวนทนความร้อนอีกชั้นหนึ่ง
ถ้านำปลายขั้วต่อวัดไปวัดแรงดันหรือกระแส จะเกิดความร้อนขึ้นที่ขดลวดความร้อน เทอร์โมคัปเปิลได้รับความร้อนเกิดแรงดันขึ้น จ่ายไปให้ดาร์สันวาล์มิเตอร์ แรงดันที่เกิดจากเทอร์โมคัปเปิลมีค่ามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของขดลวดความร้อน อุณหภูมิของขดลวดความร้อนขึ้นอยู่กับแรงดันและกระแสที่ป้อนให้ขดลวดความร้อน แรงดันที่เกิดขึ้นในเทอร์โมคัปเปิลมีค่ามากน้อยตามชนิดของเทอร์โมคัปเปิลที่นำมาใช้งาน

5.7 มิเตอร์แบบไฟฟ้าสถิต

มิเตอร์แบบไฟฟ้าสถิต เป็นมิเตอร์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้วัดแรงดันในรูปของโวลต์มิเตอร์ไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Voltmeter) การวัดค่าแรงดันใช้วัดความต่างศักย์ที่เกิดขึ้นระหว่างแผ่นเพลตตัวนำ 2 แผ่น ซึ่งก็คือสนามไฟฟ้าสถิตที่เกิดขึ้นจากการป้อนแรงดันเข้ามา การใช้งานจะใช้เป็นโวลต์มิเตอร์วัดแรงดันค่าสูงๆ เป็นกิโลโวลต์ สามารถสร้างเป็นโวลต์มิเตอร์วัดแรงดันไฟตรง (DC) และแรงดันไฟสลับ (AC) รูปร่างและโครงสร้างของโวลต์มิเตอร์ไฟฟ้าสถิต แสดงดังรูปที่5.7

รูปที่5.7 โวลต์มิเตอร์ไฟฟ้าสถิต

จากรูปที่5.7 แสดงโวลต์มิเตอร์ไฟฟ้าสถิต ใช้หลักการทำงานเหมือนกับตัวเก็บประจุปรับค่าได้ แรงดันที่เกิดขึ้นระหว่างแผ่นเพลตตัวนำทั้งสองที่ขนานกันขึ้นอยู่กับค่าความต่างศักย์ที่ป้อนเข้ามา โครงสร้างของโวลต์มิเตอร์ไฟฟ้าสถิตประกอบด้วยแผ่นเพลต 2 แผ่นวางขนานกัน แผ่นเพลต Y เป็นแผ่นเพลตอยู่กับที่ แผ่นเพลต X เป็นแผ่นเพลตเคลื่อนที่ เหมือนกับตัวเก็บประจุปรับค่าได้มีอากาศเป็นฉนวน ที่แผ่นเพลต X มีสปริงและเข็มชี้ยึดติดอยู่ด้วย สปริงทำหน้าที่บังคับแผ่นเพลต X ให้เคลื่อนที่กลับที่เดิมขณะเลิกใช้โวลต์มิเตอร์ไฟฟ้าสถิต
การทำงาน เมื่อมีแรงดันป้อนเข้ามาที่ขั้วต่อ A และ B ทำให้เกิดความต่างศักย์ไฟฟ้าขึ้นที่แผ่นเพลตทั้งสองในรูปของสนามไฟฟ้าสถิต โดยมีขั้วต่างกันระหว่างแผ่นเพลตทั้งสอง เกิดอำนาจดึงดูดกัน ทำให้แผ่นเพลต X หมุนเคลื่อนที่ไปทางขวามือจนเกิดความสมดุลของสนามไฟฟ้าสถิตที่แผ่นเพลตทั้งสอง และเกิดความสมดุลระหว่างแผ่นเพลต X กับแรงต้านทานของสปริง เข็มชี้จะชี้ค่าแรงดันบนสเกลออกมา ค่าการบิดตัวของแผ่นเพลต X จะขึ้นอยู่กับค่าแรงดันที่ป้อนเข้ามา
โวลต์มิเตอร์แบบไฟฟ้าสถิตนี้สามารถนำไปวัดแรงดันไฟตรง และแรงดันไฟสลับ โดยใช้สเกลการวัดค่าร่วมกันได้ เพราะการบ่ายเบนของเข็มชี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปคลื่นและความถี่ของแรงดันที่ป้อนให้แผ่นเพลตทั้งสอง แต่จะขึ้นอยู่กับค่าสนามไฟฟ้าสถิตที่เกิดขึ้นระหว่างแผ่นเพลตทั้งสอง

5.8 มิเตอร์แบบแคลมป์

มิเตอร์แบบแคลมป์ เป็นมิเตอร์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้วัดปริมาณไฟฟ้ากระแสสลับทั้งโวลต์มิเตอร์และแอมมิเตอร์ ลักษณะการใช้มิเตอร์แบบแคลมป์แตกต่างไปจากโวลต์มิเตอร์ และแอมมิเตอร์ทั่วไป โดยมีส่วนตอนปลายของมิเตอร์เป็นแคลมป์ เมื่อต้องการวัดกระแสก็เพียงนำส่วนแคลมป์ไปเกี่ยวคร่อมสายไฟบริเวณที่จะวัดค่า โดยไม่ต้องตัดวงจรออกเพื่อนำแอมมิเตอร์ไปต่ออนุกรมวัด รูปร่างของมิเตอร์แบบแคลมป์ แสดงดังรูปที่5.8

(ก) แบบเข็ม

(ข) แบบตัวเลข

รูปที่5.8 แคลมป์มิเตอร์

การวัดอาศัยการเหนี่ยวนำของสนามแม่เหล็กจากขดลวดปฐมภูมิมายังขดลวดทุติยภูมิ ทำให้เกิดแรงเคลื่อนชักนำ และเกิดกระแสชักนำส่งต่อไปเข้าวงจรแคลมป์มิเตอร์ แสดงค่าการวัดปริมาณไฟฟ้าออกมา ลักษณะการนำแคลมป์มิเตอร์ไปวัดปริมาณไฟฟ้า แสดงดังรูปที่5.9

(ก) การวัดเส้นลวดที่มีสนามไฟฟ้าสูง

(ข) การวัดเส้นลวดที่มีสนามไฟฟ้าต่ำ

รูปที่5.9 การต่อแคลมป์มิเตอร์วัดปริมาณไฟฟ้ากระแสสลับ

การวัดปริมาณไฟฟ้าด้วยแคลมป์มิเตอร์ ทำได้โดยการนำส่วนของสปลิตคอร์ไปเกี่ยวคร่อมสายไฟเส้นที่จะวัดปริมาณไฟฟ้า ถ้าสายไฟเส้นที่ทำการวัดมีสนามไฟฟ้าสูง เมื่อนำแคลมป์มิเตอร์ไฟเกี่ยววัด แคลมป์มิเตอร์สามารถแสดงค่าปริมาณไฟฟ้าที่ทำการวัดออกมาได้โดยตรง ดังรูปที่5.9 (ก)
แต่ถ้าสายไฟเส้นที่นำแคลมป์มิเตอร์ไปเกี่ยวคร่อมวัดค่าปริมาณไฟฟ้ามีค่าสนามไฟฟ้าต่ำ แคลมป์มิเตอร์อาจไม่สามารถแสดงค่าปริมาณไฟฟ้าที่วัดออกมา หรืออาจวัดค่าได้ต่ำ อ่านค่าได้ลำบาก สามารถวัดค่าปริมาณไฟฟ้านั้นได้สูงขึ้นโดยพันสายไฟเส้นที่วัดเข้ากับสปลิตคอร์ ยิ่งพันมากรอบยิ่งวัดค่าปริมาณไฟฟ้าได้สูงขึ้นเป็นลำดับ ค่าปริมาณไฟฟ้าจริงที่วัดได้ให้ลดค่าลงเป็นลำดับตามจำนวนรอบสายไฟที่พันรอบสปลิตคอร์ ค่าจริงคือค่าที่สปลิตคอร์วัดคร่อมสายไฟเพียงเส้นเดียว การเพิ่มการวัดค่าปริมาณไฟฟ้าได้สูงขึ้น แสดงดังรูปที่5.9 (ข)

2 ความคิดเห็น:

pansakput@gmail.com กล่าวว่า...

หนังสือเล่มนี้ชื่อ เครื่องมือวัดไฟฟ้า เจ้าของลิขสิทธิ์คือ อ. พันธ์ศักดิ์ พุฒิมานิตพงศ์
สนใจหนังสือเล่มนี้ซื้อได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมอาชีวะ (ศสอ) โทร 02-224-1129 มีรายละเอียดมากกว่านี้

ThaiRoyalVanka กล่าวว่า...

***********************************************************
มัลติมิเตอร์ , ดิจิตอลมัลติมิเตอร์ , อนาล็อกมัลติมิเตอร์ , แคลมป์มิเตอร์
***********************************************************
----> http://www.smtinter.com/
----> https://www.sgb.co.th/
----> https://www.shw.co.th/